อวิชชา (๓) ความรู้สึกนึกคิด
ต่อไปความพอใจ ไม่พอใจ มันพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกคิด เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าความพอใจ ไม่พอใจอีกนับเท่าไม่ได้ เพราะคนเราเอาความพอใจ ไม่พอใจไปทำซ้ำกับวิถีชีวิตของคนเรา ทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมตลอดเวลา มันทำให้เกิดความเคยชินของการดำเนินชีวิต ต่อไปความพอใจ ไม่พอใจ ก็จะเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนเรา ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ประกอบด้วยความพอใจ ไม่พอใจ ในที่สุดคนเราก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความรู้สึกนึกคิดของเรา คนเราก็ไม่มีโอกาสรู้และเข้าใจว่า ความรู้สึกนึกคิดของเรานั้น คือความพอใจ ไม่พอใจนั่นเอง ทุกวันนี้เราก็ดำเนินชีวิตตามความรู้สึกนึกคิดของเราตลอดเวลา
เมื่อเอาความรู้สึกนึกคิด ไปทำซ้ำในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ทำให้ความรู้สึกนึกคิดกลายไปเป็น หรือพัฒนาไปเป็น ความไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นบุญเป็นบาป ความรู้สึกนึกคิดกลายเป็นความไม่รู้ เข้าไปฝังอยู่ในใจของเรา สามารถควบคุมจิตใจของเราเด็ดขาด คนเราในที่สุดก็คิดอะไรไม่ได้ ทำตามพฤติกรรมความเคยชินของความไม่รู้ พฤติกรรมความเคยชินเหล่านี้ ถ้าเราไม่มีปัญญาของพระพุทธเจ้า ไม่มีโอกาสจะรู้เห็นได้ ยกตัวอย่าง ในตัวของคนเราทุกคนในขณะนี้ คิดก่อนทำไม่ได้ ทำก่อนคิดกันทั้งนั้น เพราะใจของคนเรา ถูกพฤติกรรมของความไม่รู้ควบคุมอยู่
พฤติกรรมเร็วกว่าความคิดของคนเรา คนเราจะคิดอะไรขึ้นมาได้ จะต้องหาเหตุปัจจัย มาให้ครบก่อน จึงจะคิดได้ แต่พฤติกรรมมันเป็นผลของความคิด ที่คิดแล้วทำมาก่อน ไม่ต้องหาเหตุปัจจัยอะไรมาก เพราะพฤติกรรมมีเหตุปัจจัยอยู่ในตัวมันครบ เพราะมันเป็นผลของความคิดมาก่อน เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บเข้าไปอยู่ในใจ มันจึงควบคุมจิตใจเราได้ คนเราจึงคิดก่อนทำไม่ได้ ได้แต่คิดตามการกระทำเท่านั้น จะเห็นว่าอวิชชา ไปหาโลภ โกรธ หลง จากนั้นไปหาความพอใจ ไม่พอใจ จากนั้นก็ไปหาความรู้สึกนึกคิด จากนั้นก็ไปหาความไม่รู้
จากความไม่รู้ ที่คนเราเอาไปทำซ้ำในชีวิตประจำวัน เมื่อความไม่รู้หมดแรงให้ผล ก็เปลี่ยนความไม่รู้ ไปสู่ชื่อวัตถุ สิ่งของ สัตว์ บุคคล ให้คนเราเอาชื่อต่าง ๆ ดังกล่าวไปทำซ้ำ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ชื่อครอบงำโลกและชีวิต เราจะเห็นว่าโลกนี้ทั้งใบมีชื่อบอกไว้ทั้งหมด ชีวิตของเรา ส่วนประกอบของตัวเรา ก็มีชื่อกำกับอยู่ทุกชิ้น ทั้งอวัยวะภายในและภายนอก เราจะเห็นว่าชีวิตที่เราไปเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก มีชื่อ เป็นสื่อนำให้เราเข้าไปสัมผัส มันกลัวเราจะลืมชื่อของสรรพสิ่ง มันก็พัฒนาชื่อต่าง ๆ มีตัวหนังสือกำกับ ฉะนั้น ตัวหนังสือและชื่อ ก็คืออวิชชา หรือโลภะ โทสะ โมหะ หรือความพอใจ ไม่พอใจ ความรู้สึกนึกคิด และความไม่รู้ ก็อยู่ในชื่อที่คนเราเรียกขาน และตัวหนังสือที่เราเขียนกำกับโลกและชีวิต ก็หมายความว่า ขันธมาร กิเลสมาร มันไม่ยอมให้คนเราหนีไปจากอวิชชาได้
เมื่อคนเราเอาชื่อและตัวหนังสือ ไปทำซ้ำในชีวิตประจำวัน ในที่สุดชื่อ ตัวหนังสือ ก็กลายไปเป็น ความยึดมั่นถือมั่น ว่านั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา จากนั้น ความยึดมั่นถือมั่น ก็กลายเป็นตัวกูของกูเกิดขึ้น นั่นคือ อวิชชาเสถียรมั่นคงในตัวคนเรา มาถึงตรงนี้ เราพอจะมองเห็นวิถีชีวิตของคนเราว่า เมื่อคนเราออกจากท้องแม่มา หมายความว่าตัวคนเรา พาร่างกายจิตใจออกมาจากกรงขังของพญามารได้ มีอิสรภาพ ทางกาย จะไปไหนมาไหน ที่ไหนก็ได้ แต่จิตใจของคนเรานั้น ยังอยู่ในกรงขังของอวิชชา หรือพญามารอยู่ ถือว่าเราโชคดีแล้วที่เกิดมาเป็นคน เพราะมีโอกาสจะพาตัวเราหนีไปจากกรงขังของอวิชชา หรือพญามารได้ เป็นคนเท่านั้น จึงจะหนีจากพญามารหรืออวิชชาได้
ถ้าคนเราไม่เข้าใจเรื่องราวของอวิชชาที่เขียนมานี้ ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดหนีไปจากพญามารหรืออวิชชาได้ คนเราต้องกลับเข้าไปอยู่ในคุกของอวิชชา หรือพญามารอีก ต้องเวียนว่ายตายเกิดหาที่สิ้นสุดไม่ได้